กสทช. จับมือหัวเว่ย ร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน Giga Thailand เร่งผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล

กสทช. จับมือหัวเว่ย ร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน Giga Thailand
เร่งผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล


ในภาพ จากซ้ายไปขวา - คุณจักรกฤษณ์ สังกิตติวรรณ์ Managing Partner (ด้าน Strategy & Management) บริษัทที่ปรึกษา TIME Consulting, ดร. สุธาสินี อาทิตย์เที่ยง วิศวกรโยธาชำนาญการ สำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง,คุณภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, คุณสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สายงานโทรคมนาคม, คุณไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ, คุณไซมอน หลิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก, คุณวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ นายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, คุณอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด, ดร. อสุโกะ โอกุดะ ผู้อำนวยการภูมิภาคสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) สำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค และคุณอลัน เหลียว รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด

กรุงเทพฯ, 29 พฤศจิกายน 2564 - สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จับมือกับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด เร่งผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่ายไฟเบอร์ ภายในงาน “Giga Thailand : Broadband Forum” ภายใต้แนวคิด โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่เอื้อประโยชน์กับทุกฝ่าย หวังยกระดับเครือข่ายไฟเบอร์ให้เป็นมาตรฐานใหม่ของประเทศ พร้อมต่อยอดความร่วมมือในอนาคตด้วยการเร่งสนับสนุนเครือข่ายไฟเบอร์ เสริมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ มุ่งสู่ดิจิทัลไทยแลนด์

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า เทคโนโลยีไฟเบอร์บรอดแบนด์ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล รวมไปถึงการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ ๆ การต่อยอดนวัตกรรม และการสร้าง New S-Curve ให้เกิดขึ้นกับทุกภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย เราต้องเร่งส่งเสริมความครอบคลุมของโครงข่ายไฟเบอร์และยกระดับความเร็วสู่กิกะบิต สถานการณ์ในช่วงสองปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นเป็นประจักษ์แล้วว่าบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตมีความสำคัญกับวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก และจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ความร่วมมือในวันนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมพัฒนาขยายโครงข่ายไฟเบอร์ในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการเป็นดิจิทัลฮับแห่งภูมิภาคอาเซียน และลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในประเทศ

ด้านนายไซมอน หลิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลก่อให้เกิดประโยชน์แก่คนทุกคน เทคโนโลยีอย่างบรอดแบนด์ 5G คลาวด์ และ AI เชื่อมต่อสังคมของเราเข้าด้วยกัน ทำให้ทุกคนทำงานจากที่บ้านได้ ทั้งยังเชื่อมต่อเรากับคนที่เรารัก และทำให้เข้าถึงทรัพยากรทางการแพทย์ได้อีกด้วย โดยปี พ.. 2565 ที่กำลังจะมาถึงนี้จะเป็นการเปิดศักราชใหม่ให้กับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ผมเชื่อว่าด้วยความร่วมมือกันจากทุกฝ่าย เราจะสามารถสร้าง Giga Thailand ที่เชื่อมต่อถึงกันได้อย่างสมบูรณ์แบบและครอบคลุมได้สำเร็จ

นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวเสริมว่า “ความเกี่ยวโยงกันระหว่างเทคโนโลยีทั้งหลายจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่สามารถตีความได้ เมื่อนำความหนาแน่นของการเชื่อมต่อของเราไปคูณกับขุมพลังการประมวลผลคอมพิวเตอร์ที่เรามีอยู่ จะทำให้เราเห็นถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งการผสมผสานระหว่างการเชื่อมต่อและการประมวลผลจะเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรมทุกภาค ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมคมนาคม การเงิน พลังงาน และยังจะช่วยสร้างคุณค่าใหม่ให้กับสังคมอีกด้วย ทั้งนี้ เครือข่ายไฟเบอร์บรอดแบนด์ได้กลายเป็นหัวใจสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจดิจิทัลจนไม่ต่างไปจากน้ำกินน้ำใช้หรือกระแสไฟฟ้า ทั้งยังเป็นตัวผลักดันใหม่สำหรับการพัฒนาการเติบโตด้านเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย

ทางด้านนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กล่าวว่า การเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายไฟเบอร์ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักด้านไอซีทีสำหรับรัฐบาลไทย โดยการพัฒนาของเครือข่าย บรอดแบนด์ของประเทศไทยเป็นไปอย่างรวดเร็ว และบรรลุเป้าหมายด้านการพัฒนา ซึ่งจะช่วยผลักดันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคมของรัฐบาลไทย รวมไปถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจดิจิทัลอีกด้วย

ด้าน ดร. อสุโกะ โอกุดะ ผู้อำนวยการภูมิภาคสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) สำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิคได้กล่าวว่า สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ทำให้เห็นความจำเป็นในการเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล นั่นหมายถึงการขับเคลื่อนจุดประสงค์และเป้าหมายด้านการเชื่อมต่อภายในปี พ.. 2573 (Connect 2030 Agenda) และการไม่ทิ้งใครเอาไว้เบื้องหลังของ ITU เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลและสร้างนวัตกรรมใหม่ได้ เป้าหมายด้านการเชื่อมต่อภายในปี พ.. 2573 ของเราถือเป็นส่วนหนึ่งของ การดำเนินงานในช่วงเวลาหนึ่งทศวรรษขององค์การสหประชาชาติ เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี พ.. 2573 และเป้าหมายที่ 9 ของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG9) ซึ่งหมายถึงการสร้างโครงส้รางพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่น ผลักดันการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และสนับสนุนนวัตกรรมใหม่ ทั้งนี้ เทคโนโลยีดิจิทัลและงานของ ITU ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ (SDGs 17) ขององค์การสหประชาชาติได้สำเร็จ

นอกจากนี้ นายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ นายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ยังได้กล่าวเสริมว่า ความท้าทายหลักของเครือข่ายบรอดแบนด์ประเทศไทยก็คืออัตราการเข้าถึงเครือข่ายไฟเบอร์ต่อครัวเรือนยังค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะในพื้นที่อาคารเก่าและในพื้นที่ห่างไกล นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความไม่เท่าเทียมด้านความเร็วอินเทอร์เน็ต และการขาดการจัดการสายเคเบิลโทรคมนาคมอย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยจำเป็นจะต้องออกมาตรการเพื่อสนับสนุนด้านการติดตั้งเครือข่ายไฟเบอร์ เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานของเครือข่ายไฟเบอร์จะเป็นตัวผลักดันการเปลี่ยนผ่านเชิงดิจิทัลในอนาคต ซึ่งจะมีส่วนทำให้เกิดเครือข่ายบรอดแบนด์ความเร็วสูง เทคโนโลยี 5G mmWave และเทคโนโลยีคลาวด์อีกด้วย

ความร่วมมือภายใต้โครงการ Giga Thailand : Broadband Forum มีจุดประสงค์เพื่อการเปิดตัวหนังสือปกขาว Giga Thailand ซึ่งจะรวบรวมคำแนะนำเกี่ยวกับการเร่งขยายเครือข่ายบรอดแบนด์ รวมไปถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนโยบายสำหรับรองรับโครงข่ายไฟเบอร์ในประเทศไทย โดย กสทช. และหัวเว่ยจะทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันเครือข่ายไฟเบอร์บรอดแบนด์ใน 3 ด้าน ด้านแรกคือการร่วมมือในการผลักดันเรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโครงข่ายไฟเบอร์ให้เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานของไทยในอนาคต รวมถึงสนับสนุนให้ขยายความครอบคลุมของโครงข่ายไฟเบอร์เพื่อเพิ่มค่าดัชนีความเชื่อมต่อ (connectivity index) ของประเทศไทย ด้านที่สองคือความร่วมมือเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในประเทศไทย และด้านที่สามคือการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของไทยเพื่อเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทั้งประเทศ

ความคิดเห็น